เล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการหางานสมัครงานที่อังกฤษ จากแต่ก่อนเป็นมนุษย์ออฟฟิศที่ไทย แล้วทำไมถึงได้ตัดสินใจเป็นอาชีพมาเป็น ผู้ช่วยพยาบาล ที่อังกฤษ ต้องมีประสบการณ์ไหม จบอะไรมา เดี๋ยวเรามาเริ่มกันเลยค่ะ
ประสบการณ์ที่ไทยทำอะไรมาก่อน
หลังจากที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อังกฤษด้วยวีซ่าติดสามีซึ่งวีซ่าตัวนี้เราจะสามารถทำงานและเรียนหนังสือที่อังกฤษได้อย่างถูกกฎหมายค่ะ ส่วนตัวแล้วประสบการณ์การทำงานตอนอยู่ที่ไทยเราก็ได้ทำงานโรงแรมในส่วนของแผนก Sales and Marketing มาตลอด 8 ปี ซึ่งก็นั่นแหละค่ะ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับด้าน Healthcare เลย
ในช่วงแรกของการหางานดูจากประสบการณ์การทำงานของตัวเองเราก็รู้สึกมั่นมากว่าฉันต้องได้งานในสายเดิมที่เคยทำแน่ๆ หย่อน resume รัวๆ แล้วก็ได้รับ invite สำหรับการไปสัมภาษณ์ถึง 4 ที่ด้วยกัน แต่เมื่อได้ไปสัมภาษณ์แล้วเหมือนถูกดับฝัน เพราะเรารู้สึกว่าเรายังไม่พร้อมสำหรับการทำงานด้านนี้ที่อังกฤษ เนื่องด้วยปัญหาในด้านของภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ทำงานในระดับ advance มากๆ เพราะเนื้องานเกี่ยวกับด้าน Communications ต้องมีการพรีเซ้นและเขียนโฆษณา บทความ press release ซึ่งแต่ละบริษัทเขาก็คาดหวังว่าเราสามารถสื่อสารได้แบบเจ้าของภาษาทั้งทักษะการพูดและการเขียน ตรงนี้เลยทำให้เราตกไปกับการสัมภาษณ์ทั้ง 4 ที่เลย
สมัครงานกับ NHS ได้อย่างไร
ระหว่างนั้นเราก็เลยมองหางานออฟฟิศที่เป็นแบบ admin ที่ใช้ทักษะทั่วไป ภาษาไม่ต้องอยู่ในระดับที่สูงมาก ก็เลยไปเจอกับตำแหน่ง administrator ในองค์กรของ NHS (NHS คือโรงพยาบาลรัฐของประเทศอังกฤษ) เราก็เลยเข้าไปในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลใกล้บ้านแล้วก็เจอกับตำแหน่งมากมายเราเลยไปสมัครทิ้งไว้ไปหลายตำแหน่ง ทั้ง Admin, Healthcare Assistant และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งเราก็จะพยายามเลือกตำแหน่งที่เป็นแบบ Entry Level นั่นก็คือ Band 2 เนื่องจากเราไม่มีประสบการณ์การทำงานที่อังกฤษมาก่อน หากเราสมัครในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอาจจะทำให้ใบสมัครของเราไม่ได้ถูกพิจารณาเลย
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การทำงานที่เราเคยทำจากไทยมาก่อน หากใครเคยทำงานโรงพยาบาลที่ไทยมาก่อนอาจจะสามารถสมัครในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปได้เลยและอาจได้รับการพิจารณาเรียกสัมภาษณ์ ส่วนตัวเราก็มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ในตำแหน่ง Career & Engagement Coordinator (Band 4) เนื่องจากลักษณะงานที่ทำนั้นมีความใกล้เคียงกันกับงานที่เราเคยทำที่ไทย (Marketing and Communications) แต่ก็นั่นหละค่ะด้วยเรื่องของทักษะการเขียนคอนเทนต์ต่างๆ ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษขั้นสูงหรือระดับเจ้าของภาษาจึงทำให้เราตกในตำแหน่งนี้ไปอีกเช่นเคย
ขั้นตอนการสมัครงานกับ NHS
การค้นหางานกับ NHS นั้นสามารถค้นหาได้หลายช่องทางแต่ 2 ช่องทางหลักๆ นั้นก็คือการค้นหาบนเว็บไซต์ NHS jobs โดยตรง หรือเข้าไปยังเว็บไซต์ของโรงพยาบาลใกล้บ้านในส่วน vacancies
การสมัครทำได้ง่ายมากโดยไม่ต้องใช้ resume เพียงแค่กรอกข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนตามความเป็นจริงในเว็บ trac ซึ่งเป็นระบบ online recruitment system ของ NHS ที่จะทำให้เราสามารถสมัครและติดตามผลการสมัครออนไลน์ได้ง่ายด้วยตัวเอง
ขั้นตอนนี้เราได้สมัครไปประมาณ 20+ กว่าตำแหน่ง เพราะโรงพยาบาลเขตที่เราอาศัยอยู่นั้นค่อนข้างใหญ่เป็น Teaching Hospital จึงมีตำแหน่งว่างค่อนข้างเยอะ เมื่อสมัครไปได้สัก 2 สัปดาห์ เราก็ได้รับ invite ให้ไปสัมภาษณ์ถึง 4 ตำแหน่งด้วยกัน ซึ่งตำแหน่งแรกก็จะเป็นงาน admin ทุกอย่างเป็นไปได้ดีมากๆ ผู้สัมภาษณ์ก็น่ารัก ประสบการณ์การสัมภาษณ์งานกับ NHS ของเรานั้นดีมากๆ เป็นอะไรที่ผ่อนคลายไม่รู้สึกกดดันเลยแม้แต่น้อย เหมือนไปนั่งคุยเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ทำความรู้จักเกี่ยวกับตัวเราและก็วัดความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับงานนั้นๆ
ผ่านไปเพียงสองวันเราก็ได้รับสายจากผู้สัมภาษณ์โทรมาแจ้งผลการสัมภาษณ์กับเรา ผลก็คือเราไม่ผ่านการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เนื่องจาก candidate อีกคนมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลในตำแหน่งแอดมินมาก่อน จึงทำให้เขาได้คะแนนในการสัมภาษณ์สูงกว่าเราและได้งานนี้ไป ในสายโทรศัพท์ Manager ที่สัมภาษณ์เราก็ปลอบใจเราว่า “เธออย่าท้อนะการสัมภาษณ์ของเธอเป็นไปได้ดีมากๆ เราชอบเธอนะแต่คะแนนเธอออกมาน้อยกว่าคู่แข่งเนื่องจากคู่แข่งมีประสบการณ์การทำงานตรงนี้มาก่อน ให้เธอพยายามสมัครต่อไปเพราะครั้งหน้ามันจะเป็นโอกาสของเธอแน่ๆ ฉันเชื่ออย่างนั้น”ความรู้สึกเราตอนนั้นแบบว่าไม่รู้สึกเสียใจเลยแต่รู้สึกมีความหวัง มันเป็นอะไรที่น่ารักและก็สร้างกำลังใจให้เราได้เป็นอย่างมาก หรืออาจจะเป็นเพราะเรารู้ว่ายังมีอีก 3 ตำแหน่งที่เหลือรอเราไปสัมภาษณ์อยู่ก็เป็นได้
สัมภาษณ์งานตำแหน่ง Healthcare Assistant
จากที่สมัครไป 20 กว่าตำแหน่งและได้รับการตอบรับในการเรียกสัมภาษณ์ 4 ตำแหน่ง มี 1 ตำแหน่งเกี่ยวกับ Admin ส่วนอีก 3 ตำแหน่งก็จะเป็น Healthcare Assistant หรือว่า ผู้ช่วยพยาบาล นั่นเอง ซึ่งตรงนี้เราก็เริ่มมองเห็นอนาคตตัวเองแล้วว่าฉันจะต้องได้มาเส้นทางนี้แน่ๆ จากตอนแรกที่สมัครทิ้งเผื่อๆ ไว้กลับกลายเป็นว่าถูกเรียกสัมภาษณ์มากกว่าตำแหน่งอื่นที่ต้องการ
การสัมภาษณ์ครั้งแรกในตำแหน่ง HCA (Healthcare Assistant) แผนกผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากเราไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้เลยและไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลมาก่อนจึงทำให้เราไม่ผ่านการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ จากนั้นเราก็เลยกลับไปทำการบ้านจากประสบการณ์ที่ได้สัมภาษณ์ไปกับคำถามที่ได้รับว่าเราควรตอบไปในลักษณะไหน พอเราได้ไปดูวิดีโอในช่องยูทูบของ CareerVidz เราก็เข้าใจเลยว่าทำไมเราจึงไม่ผ่านการสัมภาษณ์ในครั้งนั้น
มาถึงการสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 ในตำแหน่ง HCA เหมือนเดิมเพิ่มเติมคือต่างแผนก ในวันนี้เราค่อนข้างที่จะพร้อมมากๆ ในการสัมภาษณ์แต่ละครั้งจะมีผู้สัมภาษณ์อยู่ 2 คน ซึ่งก็จะเป็นหัวหน้าพยาบาลในแผนกนั้นๆ บางครั้งก็จะมี recruitment manager มาร่วมสัมภาษณ์ด้วย การที่เราจะได้คะแนนการสัมภาษณ์สูงชนะคู่แข่งนั้นเราจำเป็นที่จะต้องอ่าน Job descriptions และ Requirement ต่างๆ เพราะแต่ละจุดนั่นคือคะแนนของเรา ถ้าหากเรามีครบหรือเกือบครบก็จะเป็นโอกาสเพิ่มขึ้นที่ทำให้เราได้รับคะแนนในการสัมภาษณ์มากขึ้น
คำถามในการสัมภาษณ์ HCA ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เราแก้ไข ไม่ใช่แค่จะดูไหวพริบอย่างเดียวแต่จะดูว่าเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของ HCA และ ความปลอดภัยในการทำงานทั้งกับตนเองและผู้ป่วยมากแค่ไหน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญมากๆ สำหรับการทำงานด้านนี้ ยกตัวอย่างตัวอย่างเหตุการณ์ที่เราได้รับ
“ถ้าหากว่าคุณเดินอยู่ในที่ทำงานแล้วมีผู้ป่วยที่เพื่อนร่วมงานของคุณกำลังเดินพยุงมา อยู่ๆ ผู้ป่วยคนนั้นก็หมดสติทรุดตัวลงไปกับพื้นซึ่งเพื่อนร่วมงานของคุณไม่สามารถพยุงผู้ป่วยคนนั้นไปยังที่ที่สามารถทำการรักษาตรวจเช็คได้อย่างแน่นอน ในเหตุการณ์นี้คุณจะทำอย่างไร?”
คำถามลักษณะนี้ในมุมมองส่วนตัวที่เราไม่เคยทำงานด้านนี้หรือมีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้มาก่อนเราเคยตอบไปว่า หากเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ฉันจะรีบเข้าไปช่วยเพื่อนร่วมงานพยุงผู้ป่วยไปยัง ward ที่เขา/เธอ พักรักษาตัวอยู่และเรียกและแจ้งหมอหรือพยาบาลเพื่อดูแลต่อไป
ซึ่งการกระทำลักษณะนั้นอาจจะไม่ถูกต้องนักในแง่ของความปลอดภัย หากเราไม่รู้สาเหตุเราควรที่จะแจ้ง Manager หมอหรือพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญสามารถตรวจเช็คอาการผิดปกติได้ทันท่วงที แต่ทั้งนี้คำตอบที่ให้ไปนั้นเราต้องพยายามมองดูว่าตำแหน่งและขอบเขตหน้าที่ของเรานั้นสามารถทำอะไรอย่างไรได้บ้าง การทำหน้าที่เกินขอบเขตอาจส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ ตรงนี้จึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ที่ผู้สัมภาษณ์มองหาในผู้สมัคร HCA
ระยะเวลาที่ใช้ในการสมัครและสัมภาษณ์งาน
เพราะเราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามเหล่านั้นมาบ้างแล้วจึงทำให้เราสามารถตอบคำถามในการสัมภาษณ์ได้และผลก็เป็นไปตามที่คาดหวังนั่นก็คือรับได้รับ offer ภายใน 2 วันหลังจากวันสัมภาษณ์
- การสัมภาษณ์งานกับ NHS ใช้เวลาไม่นานในการทราบผลเพียงแค่ 1-2 วันหลังจากวันสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็จะโทรแจ้งผลทันที
- หลังจากได้รับ Offer ใช้เวลา 3-6 เดือน ในขั้นตอน Pre-employment ก็จะมี ID check เช็คว่าเราสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่, DBS check เช็คประวัติอาชญากรรมต่างๆ, ตรวจสุขภาพ และก็เช็ค reference
ส่วนตัวในขั้นตอนนี้เรารอถึงเกือบ 3 เดือนด้วยกัน แต่ก็ถือว่าค่อนข้างที่จะเร็วมากๆ เพราะของเพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งที่เรารู้จักรอเกือบๆ 6 เดือนถึงจะได้วันเริ่มงาน กรณีลักษณะนี้อาจจะติดในเรื่องของสุขภาพหรือ DBS check หรือ reference ของแต่ละบุคคล
ข้อดีของการทำงานเป็น ผู้ช่วยพยาบาล ที่อังกฤษ (NHS)
- ทำงานเพียงแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ (วันละ 12 ชั่วโมงครึ่ง แต่บางคนอาจจะไม่ชอบการทำงาน long day แบบนี้)
- สมัครได้เลยแม้ไม่เคยมีประสบการณ์หรือเข้าคอร์สผู้ช่วยพยาบาลมาก่อน
- NHS มีโปรแกรมเทรนและอบรมให้สำหรับพนักงานใหม่ ทุกคนสามารถเรียนรู้และเริ่มต้นได้
- สามารถเรียนพยาบาลและทำงานไปด้วยแบบไม่ต้องลาออกเพื่อไปเรียน Uni อย่างเดียว มีกองทุนช่วยเหลือค่าเล่าเรียนปีละ 5,000 ปอนด์ (กู้ยืม)
- โอกาสในการต่อยอดไปทำในตำแหน่งอื่นๆ ได้ง่ายในโรงพยาบาลของ NHS
นี่ก็เป็นประสบการณ์การสมัครงานการจับพลัดจับผลูของเราที่อยู่ๆ ก็ได้มาทำงานเป็น ผู้ช่วยพยาบาล ที่อังกฤษ หวังว่าจะสามารถเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังที่จะย้ายมาอยู่ที่อังกฤษเพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่
ส่วนตัวแล้วไม่เคยมองเห็นตัวเองที่จะเดินในเส้นทางสายนี้มาก่อน แต่พอได้รับโอกาสเราก็รู้สึกตื่นเต้นและอยากที่จะเรียนรู้มากๆ ยิ่งไปอ่านรีวิวหลายๆ ที่ เรายิ่งรู้สึกมีไฟในตัวเองมากขึ้นรอไม่ไหวแล้วที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับการทำงานด้านนี้ นี่แอบลุ้นกับตัวเองอยู่เหมือนกันขอให้เราทำได้และก็มีความสุขกับการทำงานในอาชีพใหม่นี้